“การตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตคือการเลือกเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง”
สวัสดีทุกคนค่ะ อันดับแรกเรามาทำความรู้จักกันก่อนนะคะ ชื่อนางสาวณัษฐภา อภิรมย์เสนีย์ ชื่อเล่น บูม เป็นศิษย์เก่าสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร รุ่นที่ 14 เคยร่วมงานกับ บริษัทโออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ตำแหน่ง QA Co-manufacturing officer รับผิดชอบการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับลูกค้าบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Nestle, F&N เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ปัจจุบันเป็น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สายการบิน Qatar Airways และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท MBA – Strategic Management for Digital Transformation มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยค่ะ
ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีมากที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในรั้วมฟล.ให้กับน้องๆ ตั้งแต่การตัดสินใจครั้งสำคัญของเด็กม.ปลายที่จะก้าวเข้ามาสู่ระดับมหาวิทยาลัย การเรียนการสอน ชีวิตความเป็นอยู่ในจังหวัดเชียงราย กว่าจะจบออกไปได้ผ่านอะไรมาบ้าง และประสบการณ์ทำงานจนถึงชีวิตปัจจุบันค่ะ
แม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเรื่องน่าสนใจหลายสิ่ง ตั้งแต่บรรยากาศไปจนถึงการเรียนการสอน ซึ่งที่นี่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ต้องออกตัวก่อนเลยค่ะว่าสมัยมัธยมระดับภาษาอังกฤษเราแย่มาก พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง ยกตัวอย่างง่ายๆคือรู้ว่าบวกคือ plus ลบคือ minus ส่วนคูณหารยังไม่รู้เลยว่าต้องใช้คำว่าอะไร นึกย้อนไปรู้สึกขอบคุณตัวเองมาก ๆ มีกล้าตัดสินใจมาเรียนที่นี่ ตอนนั้นบอกกับตัวเองค่ะว่าต่อให้เราจะเรียนไม่ไหว โดนรีไทร์ก่อน อย่างน้อยเราก็คงจะได้ความรู้กลับไปจากมหาวิทยาลัยนี้บ้างแหละนะ! นั่นคือสิ่งที่บูมคิดก่อนจะก้าวเข้ามาเรียนที่นี่ค่ะ
ที่นี่ให้ความสำคัญกับนักศึกษาทุกคน จัดโปรแกรมปรับพื้นฐานก่อนเพราะแน่นอนว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักของบ้านเรา เรียกกันว่า How to live and learn on campus เหมือนเป็นการเข้าค่ายที่สนุกมาก เรามีสิทธิเลือกว่าอยากเรียนวิชาอะไรซึ่งมีตั้งแต่เนื้อหาวิชาการ ไปจนถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน แบบที่ไม่เครียดเลยเวลาเข้าไปนั่งเรียน แต่วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการให้นักศึกษาได้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและภาษาค่ะ
เมื่อเริ่มเปิดภาคเรียนในช่วงปีแรกก็จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เรียนรวมกับเพื่อนๆ จากสำนักวิชาอื่น พอเข้าปี 2-3 จะเริ่มเข้าสู่วิชา Major ตามสาขาวิชาของตนเองและในปีสุดท้าย จะเป็นการทำโปรเจคและฝึกงานก่อนที่จะจบการศึกษาค่ะ ในส่วนของสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มีนักศึกษาไม่มากนักซึ่งมองว่าเป็นข้อดี ทำให้เราเข้าถึงอาจารย์ได้ง่ายขึ้น ความรู้ก็แน่นขึ้นค่ะ ทางสำนักวิชามีการจัดสัมมนาเรียนเชิญศาสตราจารย์จากหลายสถาบันในต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้กับนักศึกษากันแบบฟรีๆ เป็นประจำ เรียกได้กว่าแทบจะทุกรายวิชา ทุกภาคการศึกษาเลยก็ว่าได้ ทำให้เราได้ฝึกทั้งทักษะภาษาอังกฤษ และได้ความรู้จากเจ้าของตำรา Textbook ต้นฉบับเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาจากที่ไหนได้แบบนี้นะคะ
สำหรับการปรับตัวเข้ากับการเรียนที่นี่บูมเลือกจัดการตัวเองด้วยการเข้าห้องสมุดค่ะ ตั้งแต่ปี 1 บูมใช้เวลาในห้องสมุดเยอะมากจนรู้มุมหนังสือที่เราอ่านประจำจนเดินเข้าไปหยิบได้เลยโดยไม่ต้องค้นหาตำแหน่งของหนังสือจากคอมพิวเตอร์ แบกหนังสือกลับไปอ่านที่ห้องเป็นตั้งสูงท่วมหัวประจำค่ะ ด้วยความที่เราอ่อนภาษาอังกฤษก็เลือกหยิบเล่มที่ภาษาดูอ่านง่าย มีภาพเยอะๆ จะได้อ่านได้โดยไม่ง่วงก่อน และก็ฝึกเขียนสรุปออกมาเป็นภาษาง่ายๆ ที่เราเข้าใจค่ะ ห้องสมุดถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ช่วยเราได้มากเพราะนักศึกษาแต่ละคนมีเรื่องที่เข้าใจและไม่เข้าใจในเนื้อหาที่เรียนไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราก็ต้องรู้จักดูแลตัวเอง หาวิธีพัฒนาตัวเอง เข้าห้องสมุด ปรึกษาอาจารย์ค่ะ
แน่นอนว่าที่จบออกมาได้ไม่ใช่ว่าเป็นหนอนหนังสือ เอาแต่เรียนอย่างเดียว บูมเข้าทุกกิจกรรมและรับผิดชอบเป็นผู้จัดการในหลายกิจกรรมเช่นกันตั้งแต่ปี 1 จนปี 4 หนึ่งกิจกรรมที่บูมทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานและอยากแบ่งปันประสบการณ์ให้ทุกคนคือกิจกรรม Open Can เป็นงานที่นักศึกษาอุตสาหกรรมเกษตรจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยมารวมกัน แข่งกีฬา กองเชียร์ ผู้นำเชียร์ รวมถึงแข่งความสามารถทางวิชาการด้วย เราได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าของงานนี้ ติดต่อกับตัวแทนแต่ละมหาวิทยาลัย จัดงบ เตรียมการเดินทาง พาน้องๆ จากแม่ฟ้าหลวงไปร่วมกิจกรรมกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งปีนั้นเจ้าภาพคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งช่วงชีวิตที่ใช้พลังงานเยอะที่สุด เรียน ทำแลป ทำโปรเจค และจัดกิจกรรมควบคู่กันไป ถือว่าได้ทักษะการจัดการและการบริหารงานมาจากกิจกรรมนี้เลยค่ะ
โปรเจคจบถ้าไม่พูดถึงคงไม่ได้ บูมมีโอกาสที่ดีมากในฐานะนักศึกษาป.ตรี ที่ได้ไปทำวิจัยที่ Mokpo National University สาธารณรัฐเกาหลีใต้ เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ซึ่งเราใช้เวลาช่วงปิดเทอมหน้าร้อนไปทำโปรเจคค่ะ คือเราไม่ได้หยุดเลย สอบปลายภาคเสร็จก็บินไปทำแลปที่เกาหลี ทำแลปเสร็จกลับมาก็เปิดภาคเรียนใหม่ทันที แต่นี่เป็นหนึ่งความภูมิใจและทำให้โปรไฟล์เราสวยขึ้นไปอีกหลายเท่าเลยค่ะ ได้มีโอกาสทำวิจัยกับ Prof. Rhim Jong-Whan และทีมนักวิจัยป.โทและป.เอกจากจีน อินเดีย อียิปต์ ได้ทั้งความรู้และได้ประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศด้วย สำหรับโปรเจคที่เลือกทำคือการคิดค้น Edible film / Biodegradable film ทีใช้สารสกัดจากธรรมชาติ พืชพื้นเมืองในไทยที่มีคุณสมบัติในการถนอมอาหาร ไม่ว่าจะเป็น antioxidant และ antibacterial ซึ่งถือว่าน่าสนใจมากจนทุกวันนี้ยังอยากกลับไปทำต่อเลย นอกจากนี้ยังมีโปรเจคอีกหลากลายประเภทที่ทางสำนักวิชาเราค้นคว้าทำเป็นงานวิจัยและตีพิมพ์ระดับนานาชาติค่ะ เรียกได้ว่าบัณฑิตที่จบจากที่นี่มีทั้งความรู้และคุณภาพพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงานอย่างเต็มตัว
มาถึงภาคเรียนสุดท้ายคือสหกิจศึกษาหรือการฝึกงาน ซึ่งบูมได้โอกาสไปฝึกงานที่แผนก Quality Assurance บริษัทโออิชิ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวชื่อดังที่เรารู้จักกันนั่นแหละค่ะ ที่นี่ไม่ได้ผลิตแค่ชาเขียวแต่ยังรับจ้างผลิตเครื่องดื่มนมด้วย ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้หลายอย่าง อีกทั้งเมื่อฝึกงานจบแล้วก็ยังได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงานต่อที่บริษัทนี้ด้วยค่ะ เพราะความตั้งใจที่เรามี ความสามารถทางภาษาอังกฤษและความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทำให้เราโดดเด่นกว่าคนอื่นมาก แน่นอนว่าบริษัทย่อมอยากได้คนแบบเราไปร่วมงานค่ะ ตลอดเวลาเกือบ 3 ปีที่ทำงานที่โออิชิ เราได้มีโอกาสทำหลายอย่างมาก ได้ติดต่องานกับลูกค้าต่างชาติ ประสานงานกับแต่ละแผนก ร่วมเป็นพิธีกรในหลายกิจกรรมของบริษัท และยังเป็น Trainer ด้าน Sensory evaluation ให้กับพนักงานในโรงงานด้วย ใครที่เคยมองหรือถูกมองว่าการทำงานวิทยาศาสตร์อาหารเป็นแค่คนโรงงาน ดูไม่เท่ห์เหมือนงานอื่น อยากให้ลองมองใหม่ค่ะ สายอาชีพนี้น่าภูมิใจมากและใช้ความรู้ความสามารถมากจริงๆ ค่ะ จากประสบการณ์ปัจจุบันที่ทำงานกับต่างชาติตลอด ทุกคนรู้สึกว้าวกับเรามากเวลาที่บอกว่าเราจบ Food Technology ดังนั้นอยากให้ภูมิใจในทุกสายอาชีพมีดีของมันค่ะ อะไรที่เราเลือกแล้วย่อมดีเสมอ
สุดท้ายนี้ หากน้อง ๆ ที่กำลังสนใจจะเข้าศึกษาต่อที่สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่ยังลังเลอยู่ สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและอ่านบทความจากรุ่นพี่ท่านอื่น ๆ ได้ที่ http://agroindustry.mfu.ac.th หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจก้าวสำคัญของน้อง ๆ และเข้ามาเป็นลูกแม่ฟ้าด้วยกันนะคะ