เรื่องเล่า ชีวิตในรั้ว มฟล.
สวัสดีค่ะ ทุกท่าน พี่ชื่อ สุนันทา เกษนาวา หรือพี่จ๊อย เป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด จบการศึกษาในระดับ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตเเละปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร รหัสเข้าเรียน ป.โท 51xxxx (ปีพ.ศ. 2551 แก่ไหมคะ ถึงแทนตัวเองว่าพี่) ฉายาที่ได้จากการเรียนตอนนั้น ‘พี่จ๊อยร้อยเพจ’ เเล้วมาติดตามกันค่ะ มีที่ไปที่มาอย่างไร ขอเล่าย้อนไปก่อนว่าในปีที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 (พ.ศ. 2543) ทราบข่าวว่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เปิดสอนเข้าสู่ปีที่สอง และเพิ่งเปิดสอนหลักสูตรเทคโนโลยีการอาหารในปีนั้นเป็นปีเเรก เเต่ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ ขอบอกความในใจตามตรงตอนนั้นว่า ยังไม่มีความเชื่อมั่น ว่าการเรียนการสอนจะมีคุณภาพเทียบเท่า กับมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมายาวนาน เเละมีชื่อเสียงอยู่ก่อนเเล้ว เเต่ก็ทราบว่าเป็นมหาวิทยาลัยเเม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งเเวดล้อมสวยงาม เเละมีอธิการบดีที่ฝีมือไม่ธรรมดา มาพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อีกแห่งหนึ่งของประเทศ จนกระทั่งร่ำเรียน จนจบปริญญาตรี จากภาควิชาวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กลับไปช่วยทำธุรกิจที่บ้านอยู่ร่วมหนึ่งปีกว่าๆ แต่ตั้งเป้าว่าอยากเรียนให้ถึงระดับสูงสุด จึงลองหาข้อมูล เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่จะสมัครเรียนต่อ ทั้งในไทย เเละต่างประเทศค่ะ ถ้าไม่ได้ทุนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ก็อยากเรียนใกล้บ้าน สามารถช่วยดูงานทางบ้านไปด้วย จึงเข้าเวบไซด์หาข้อมูลของที่นี่ เข้าไปอ่านผลงานทางวิชาการ ภูมิหลัง สาขาเชี่ยวชาญของอาจารย์เเต่ละท่าน รวมไปถึงรายละเอียดหลักสูตรการสอน ค่าใช้จ่าย จำได้ไม่ชัดเจนว่า ตอนนั้นติดต่อผ่านทางอีเมล์ กับท่านอาจารย์สาโรจน์ รอดคืน ก่อนที่จะกรอกในสมัครเข้าเรียน หรือ กรอกก่อนไปสอบก่อนกันเเน่ คือในตอนนั้นไปขอพบกับอาจารย์สาโรจน์ เเล้วอาจารย์ท่านพาเดินดูห้องเเลบและเเลบส่วนกลาง เเละได้พูดคุยถึงลักษณะงานวิจัย สาขาเชี่ยวชาญ หรือทุนวิจัยที่ท่านมี จากนั้นพี่ก็มีความมั่นใจมากขึ้น ว่าที่นี่มีความพร้อมที่จะสานเป้าหมายของพี่ได้ จึงได้ตัดสินใจสมัครเรียนเเละสัมภาษณ์ผ่านมาได้ งานวิจัยที่วางเเผนในตอนสมัครเรียนเป็นด้าน functional foods เเต่อาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ไปศึกษาต่อ ใจเสียนิดๆ แต่พี่ก็ดำเนินการเล่าเรียนตามหลักสูตรที่ทางภาควิชาวางไว้ มีเรียนเเบบคอรสเวิรกอาจารย์มาสอน พร้อมๆ กับทำวิจัยประกอบวิชาเรียนไปด้วย ได้ทำการสกัด ทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ออกจากถั่วสามชนิด สกัดเอนไซม์จากสับปะรด จากการทำงานวิจัยตอนนั้นพี่คิดว่า พี่คงชอบงานเกี่ยวกับโปรตีนและเอนไซม์ เเละอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ คือ ท่านอาจารย์ สาโรจน์ รอดคืนนั่นเอง ได้คุยกับอาจารย์อย่างเป็นทางการ เเละตอนนั้นไม่ได้มีไอเดียงานวิจัยเกี่ยวกับโปรตีนเลย อาจารย์ธีรพงษ์ เทพกรณ์ เเละ อาจารย์ สาโรจน์ ได้สอนและเเนะเเนวคิดให้เกี่ยวกับการสกัดเอนไซม์จากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร หัวข้องานวิจัยช่วงปริญญาโทเลยเกี่ยวกับการสกัดเอนไซม์โปรตีเอสจากวัสดุเศษเหลือสับปะรด ตัดภาพมาที่การเรียนช่วงปีเเรก ในระดับ ป.โท จะมีคอรสเวริกเเละสัมมนาช่วงปีเเรก โดยทำวิจัยหัวข้อวิทยานิพนธ์ไปด้วยเลย ถ้าไหวเเละทำจริงจังช่วงปีที่สอง ด้วยความพร้อมทางอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เเละความสะดววกในการเบิกใช้สารเคมี สามารถลดอุปสรรคในการทำเเลบไปได้เยอะค่ะ อุปสรรคที่สำคัญคือตัวเรานั่นเอง ตอนเรียน ป.ตรี เราไม่เคยต้องมานั่งอ่านงานวิจัย เปเปอร์มากมาย ไม่เคยมานั่งเขียนเป็นรีวิวหรือเอามาคุยกับอาจารย์ ในชั้นเรียนสัมมมนาก็ต้องมีการปรับตัวยกใหญ่ พี่ยอมรับว่าอ่านเปเปอร์ไม่รู้เรื่อง ไม่ใช้ว่าไม่เข้าใจภาษาอังกฤษนะ เเต่เพราะพี่ตีความไม่ได้ว่าเปเปอร์นี้ต้องการจะสื่ออะไร เขาต้องการรายงานผลเป็นอย่างไร เวลาอาจารย์ถามในห้องเนี้ย ก็อึ้งเเละตอบไม่ได้เลย (ถึงขั้นเสียน้ำตาในชั้นกันมาเเล้ว) เเต่พอเรียนรู้จากที่อาจารย์เขาถาม เราก็ได้รู้ว่า เออ การอ่านเปเปอร์ ต้องเป็นเเบบนนี้นะ อาจารย์เเต่ละท่าน ขอย้ำว่า มีความเชี่ยวชาญเเละทรงภูมิมากๆ รอบรู้ สามารถเเนะนำเราได้ เนื่องจากและตอนนั้นจำนวนนักศึกษาน้อยด้วย เราเลยได้รับความใส่ใจจากอาจารย์เป็นพิเศษ อาจารย์ที่ปรึกษาจะมีเวลาให้คำเเนะนำตรวจเช็คความก้าวหน้างานวิจัย หลังจากได้ปรึกษากับท่าน ไม่รู้นะคะ (เหมือนมีพลังงานบางอย่าง) จะมีพลังขึ้นมาตลอด จากที่บางทีมีท้อ มีขี้เกียจ ก็มีพลังขึ้นมาทันที (ดังนั้นอย่าหลบหน้า อย่าหายตัวกับที่ปรึกษาของเราเลยค่ะ)
อีกเรื่องขำขันค่ะ คือว่า ออโต้ไปเปตนี่ไม่เคยจับมาก่อน ไม่เคยใช้นะคะ รุ่นนั้น (ดูสิว่าเเก่ขนาดไหน) เพิ่งมาได้รู้จัก ใช้จริงจัง ตอนเรียนป. โท นี่เเหละคร่า เเละได้เริ่มเรียนรู้งาน วิธีทดลองเกี่ยวกับโปรตีนอย่างจริงจัง กับรุ่นน้องอีกท่านเเละจากอาจารย์ที่ปรึกษานี่ละค่ะได้ฉายา พี่จ๊อยร้อยเพจ มาจากการทำวิจัยนี่แหละค่ะทุกท่าน เคยได้ยินเกี่ยวกับเจลอิเล็กโทรโฟรีซิสกันไหมค่ะ เรียกย่อว่า เพจ มาจาก SDS-PAGE เราต้องผสมตัวเจลเองเเละเซ็ทให้เป็นเเผ่นบางๆ เพื่อที่จะโหลดตัวอย่างโปรตีนลงไปซึ่งเเต่ละขั้นตอนมีความละเอียดมาก เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์รวมกันก็ว่าได้ ที่ร้อยเพจ เพราะทำมันอยู่ ทำเสร็จ เสียบหวีไม่ดี เจลไม่เซทตัว พอแกะออกเเเล้วขาด เจลฉีก รูปเเบนโปรตีนไม่สวยบาง โอ้ เรื่องมันยาว…แถมอีกนิด ค่ะ เรื่องขำปนเศร้านิดๆ ตอนสอบโคร่งงร่างวิจัยเสร็จ ช่วงบ่ายของวันนั้น พี่มีอาการปวดท้องรุนเเรงจนตัวงอเดินไม่ได้เลย ถึงต้องหามส่งโรงพยาบาลเลยทีเดียว สรุปเป็นชอกโกเเลตซีส์ ผ่าตัด พักฟื้นกันไป แล้วก็กลับมาโหลดเจลต่อ ภายในสองสัปดาห์ให้หลังจ้า ถือเป็นการเเลกรังไข่ข้างซ้ายไปกับปริญญาโท กันเลยทีเดียว TT
ตอนเรียนที่นี่ได้รับจ๊อบงานวิจัยเล็กๆ ของอาจารย์ ท่านอื่นๆ เพื่อค่าขนม อิอิ ได้รู้จักนักศึกษารุ่นน้อง ทำงานร่วมกับน้องๆ ได้เห็นการเรียนการสอนของน้องระดับ ป.ตรี ก็ถึงกับ อึ้ง นะคะ ว่าหลักสูตรดีมาก เรียนลึก เเละได้ทำงานวิจัยอะไรจริงจังเเละลึกพอสมควรเลย อุปกรณ์อะไรก็ดีเเละใหม่ มีเพียงพอ เด็กได้ความรู้ที่เป็นทฤษฎีเเน่น เเละวิชาเเลบก็ส่งเสริม เลย เเอบคิดโอ้… ที่นี่ ระดับป.ตรีเขามีดีเหมือนกันนะ น่าเเเนะนำคนมาเรียน จะส่งลูกมาเรียนก็ นะ เป็นเเค่ความฝันลมๆเเล้งๆ 55
พอเรียนจบปริญญาโท ตอนนั้น ก็คิดว่าอยากไปเรียนต่อเมืองนอก อีกเเล้ว หาทุนๆ เเละท่านอาจารย์ที่ปรึกษาก็ คงเหนื่อยกับเรามาสองปี เอ… หรือเพราะสถิติในการทำเพจของเรา ท่านบอกว่าตอนนี้ผมยังไม่มีทุนวิจัยนะ เลยกลับไปพักที่บ้าน ช่วยงานที่บ้าน ทำนั้นนี่ไปอีกปี อยู่มาวันนึง อาจารย์ก็บอกว่ามีทุนผู้ช่วยนักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สนใจอยากลองมาสมัครไหม ทำตามขั้นตอน ทุกอย่างเหมือนตอนที่เข้ามาเรียน ป.โท เราก็เห็นเป็นโอกาสที่ดี มีโอกาสได้ไปทำวิจัยที่ต่างประเทศด้วย เลยตอบอาจารย์ ว่า ไปค่ะ ก็ดำเนินการสมัครเข้าเรียนทำตามขั้นตอน เเละได้กลับมาเป็นลูกแม่ฟ้าหลวงอีกครั้งในฐานะ นักศึกษา ป.เอก ตอนนั้นยังเซ็นต์สัญญาทุนอะไรไม่ได้ จนกว่าจะผ่านการสอบวัดระดับความสามารถหรือเรียกว่า คิวอี ตอนนั้นก็เป็นช่วงทุกข์ทรมานเอามากๆ ความโหดหินของการสอบ เเละข้อสอบจะออกอะไรก็ได้ทั้งนั้น ในรายวิชา เคมีอาหาร การแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ความรู้เราเข้าหม้อไหไปเเล้ว จะฟื้นยังไงไหว สอบไม่ผ่านหนึ่งวิชา เกือบถอดใจ ไม่ลงไม่เรียนมันเเล้ว ป.เอก สุดท้ายสอบใหม่อีกครั้ง เเล้วผ่านในที่สุด ว่าที่ดร.ถือกำเนิดขึ้นเเล้ว ว่ะฮ่าๆ
ตอนนั้นที่เรียน ปี 2555 หลักสูตรจะเป็นการทำวิจัย หรือดุษฎีนิพนธ์ เพียงอย่างเดียว ไม่มีวิชาเรียน เเต่ในระหว่างนั้นหากมี วิชาเรียนของน้องนักศึกษา ป.โท ที่เราสนใจเราก็ไปร่วมลงเรียนได้ พี่เฝ้าสังเกตและได้เห็นความเติบโต เเละเเข็งเเรง ของหลักสูตรที่จัดสอนเด็ก ป.ตรี ป.โท ที่นี่ กล้าบอกเลยค่ะว่า หากน้องๆ หรือลูกหลานเรียนที่นี่ สู้ได้ทุกสถานการณ์ ทุกสถาบันได้เลยคร่า ไม่น้อยหน้าแน่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ไม่โด่งไม่ดัง
ด้วยความสามารถทางด้านวิชาการ การฟูมฟัก สั่งสอนของอาจารย์ที่ปรึกษา พี่สามารถฝึกฝนจนได้ จนสามารถตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเพียงพอ ที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเปอร์ดิว สหรัฐอเมริกาได้พิจารณาจากประวัติย่อเเละ ให้โอกาสไปร่วมทำงานวิจัย ในตำเเหน่ง Post-doctoral research associate นั่นจึงเป็นงานเเรกที่พี่ได้รับหลังจากจบการศึกษา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการผลิดโปรตีนไฮโดรไลเซทจากวัสดุเศษเหลือจากปลา หลังจากนั้นสองปี พี่สมัครทุน JSPS มาทำวิจัย มหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่นทำงานวิจัยเกี่ยวกับการย่อยเเละการเปลี่ยนแปลงของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของอาหารจากพืช จนปัจจุบันนี้ยังทำงานที่นี่ เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวและการย่อยของข้าวในตำแหน่ง Project researcher การทำงานเราไม่ได้มีที่ปรึกษาที่จะดูเเลเราเหมือนเรียนโท เอก อีกเเล้ว ดังนั้น สำคัญเลยว่า เราประยุกต์ใช้ความรู้เเละทักษะที่ได้จากการฝึกฝนมาในช่วงที่ผ่านมาได้จริง
ทิ้งท้าย เราก็จบจากมหาวิทยาลัยใหม่ ไม่โด่งไม่ดัง ในจังหวัดบ้านนอก ที่ไกลกรุงเทพ บอกใครเขา ไม่รู้จัก เหมือนมหาลัยตามหัวเมืองใหญ่ ของประเทศ เเต่สามารถมาทำงานไกลได้ถึงอเมริกา ถึงญี่ปุ่น ณ จุดนี้ มีความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดไม่ได้เลยนะคะ มันอยู่ที่ตัวเราเเละการฝึกฝน การสร้างตัวตนของเราจริงๆ เลยค่ะ ขอฝากโคลงกลอนยืมมาจากเวบไซต์นึง เพื่อเป็นเเรงผลักดันให้น้องๆ นะคะว่า
เกิดแต่ตม…
จากโคลนตมต่ำต้อย….ใต้น้ำ
บงกชเบ่งบานล้ำ….ค้ำฟ้า
ดอกใบสวยด้วยน้ำ…กำเนิด บัวนา
เกิดจากดินสู่หล้า…สง่า งามองค์
ดอกบัวเฝ้าเพาะกอใบอยู่ใต้น้ำ คอยชูช่อก้านนำขึ้นล้ำฟ้า
เกิดจากโคลนว่าต้อยต่ำไม่นำพา พอพ้นน้ำดูล้ำค่าสง่างาม
เช่นคนเราเจ้าเกิดแล้วต้องต่อสู้ ให้โลกรู้ให้ค่าล้ำคำเหยียดหยาม
พาชีวิตได้สดใสในทุกยาม ให้ลือนามความสำเร็จเสร็จสมใจ
จะทุกข์ยากอย่างไรจงได้รู้ พยายามตั้งใจสู้ไม่หวั่นไหว
เกิดแต่ตมยังเบ่งบานชูช่อได้ อย่าท้อใจอย่าได้ยั้งหนทางเดิน…
ท้องฟ้าไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้ดอกบัวใดเบ่งบาน หากอยู่รอดพ้นน้ำมาได้ก็กางกลีบดอกออกอย่างเต็มที่
ความสำเร็จก็ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้ใครไคว่คว้าไปไม่ได้ หากเพียงแต่ใครจะพยายามได้มากน้อยเพียงใดที่จะได้มา
สุดท้าย (จริงๆ) พี่อยากจะบอกว่า ไม่ใช่สถาบันการศึกษา อาจารย์ หรือตัวเรา เพียงอย่างใดอย่างนีง ทุกปัจจัยส่งผลถึงความสำเร็จ ที่เราหวังไว้ เเต่ หากท่านใดที่กำลังมอง หาที่เรียนต่อในสาขานี้ พี่คิดว่า มฟล. เป็นที่นึงที่จะ ช่วยเติมเต็มความฝันของน้องๆ ได้ค่ะ หาข้อมูลเพิ่มเติมและอ่านบทความจากรุ่นพี่ท่านอื่น ๆ ได้ที่ http://agroindustry.mfu.ac.th หวังว่าเรื่องเล่าจากพี่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจก้าวสำคัญของน้อง ๆ
พี่จ๊อยร้อยเพจ ป เอก คนเเรก ของสาขาวิชา
ถ้าพี่ทำได้ น้องก็ทำได้
ด้วยรักและปรารถนาดี
สุนันทา เกษนาวา