วันนี้แอดมินเลยจะขอแนะนำสำนักวิชาที่น่าสนใจสำนักวิชาหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกสำนัก “ที่ยิ่งเรียน ยิ่งเติบโต” นั่นก็คือ สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร (School of Agro-Industry) ค่ะ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าที่โลกต้องการมากอย่างหนึ่งในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 นั่นก็คือ อาหารแปรรูปและอาหารแห้ง ดังนั้น ธุรกิจการแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร รวมถึงธุรกิจการส่งออกจึงเติบโตสวนทางกับธุรกิจอื่น ๆ การเรียนในสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรตอบโจทย์สภาวการณ์ของโลกได้เป็นอย่างดี เพราะที่นี่ เปิดสอนทั้งการผลิตและแปรรูปอาหาร รวมถึงจัดการของสดให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยการขนส่งที่เร็วที่สุด สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า “อก.” เปิดสอนใน 3 ระดับ ทั้งป.ตรี ป.โท และป.เอก ใครที่สนใจเรียนทางด้านนี้ ก็คือว่าได้เรียนกันยาว ๆ ได้เลย แต่วันนี้ที่เราจะรีวิวให้น้องๆ ก็คือหลักสูตรป.ตรี ซึ่งที่นี่เราเปิดสอนทั้งหมด 2 สาขาด้วยกันคือ
1. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science and Technology)
2. สาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและโลจิสติกส์ (Postharvest Technology and Logistics)
และวันนี้แอดมินจะพาไปดูการเรียนการสอนของสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรทั้ง 2 สาขา รวมถึงบรรยากาศห้องเรียน และเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยกันค่ะ
สาขาวิชาแรกที่แอดมินขอแนะนำคือ Food Science and Technology (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เน้นการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อผลิตและแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารขึ้นมา รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ เพื่อให้คุณค่าทางโภชนาการและมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะเรียนกันตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการแปรรูป การตรวจสอบคุณภาพ การพัฒนานวัตกรรมอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ การบริหารจัดการและการตลาด เพื่อให้มีศักยภาพที่จะสามารถเป็นผู้ประกอบการได้
จุดเด่นของที่นี่ คือ หลักสูตรมีมาตรฐานสากล โดยได้รับการรับรองหลักสูตรจาก IFT หรือ Institute of Food Technologist ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรนานาชาติที่สนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารและสร้างเครือข่ายทั่วโลกในสาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยที่นี่ถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองหลักสูตรค่ะ
ข้อดีของการเรียนที่นี่ คือการที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดน รวมถึงมีพืชเฉพาะถิ่นที่น่าสนใจ คือ สับปะรด (ภูแล/นางแล) ข้าว ชา กาแฟ โดยเฉพาะชาและกาแฟ ที่จังหวัดเชียงรายถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกชา และกาแฟพันธ์อาราบิก้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว
ดังนั้น ที่นี่จึงมีการสอนในรายวิชา Tea & Coffee Technology ด้วย ซึ่งนอกจากน้อง ๆ จะได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติในกระบวนการกรรมวิธีผลิตชาและกาแฟ การฝึกทักษะในการใช้อุปกรณ์เครื่องจักร การควบคุมคุณภาพ การคั่วกาแฟ การชงชา การชงกาแฟ การทดสอบชิม น้อง ๆ ยังได้ไปศึกษาดูงานการจัดการไร่ชา ไร่กาแฟ และกระบวนการผลิตในพื้นที่จริง ๆ อีกด้วย
ภาพบรรยากาศห้อง Food Maker Space ที่เป็นห้องเรียนของรายวิชา Tea & Coffee Technology ซึ่งมีอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ อย่างครบครันและทันสมัย รองรับการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้จากภาคปฏิบัติและประสบการณ์จริง
ส่วนสาขาที่สอง คือ Postharvest Technology and Logistics (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและโลจิสติกส์) ซึ่งเป็นสาขาที่เน้นเกี่ยวกับการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการควบคุมดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลผลิต ใช้เทคโนโลยีและทักษะการบริหารจัดการมาใช้ในการขนส่ง/กระจายสินค้าทางการเกษตรที่เน่าเสียง่าย ให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยยังคงรักษาความสดใหม่ รวมถึงคงไว้ซึ่งคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการโลจิสติกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร โดยแบ่งการเรียนออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. เทคโนโลยีการเกษตร (Agriculture Technology)
2. เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest Technology)
3. เทคโนโลยีการบรรจุ (Packaging Technology)
4. เทคโนโลยีการแปรรูป (Food Processing Technology)
ถือว่าน้อง ๆ จะได้เรียนกันตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางเลยทีเดียวค่ะ
จุดเด่นของที่นี่ คือ มีแผนการเรียนควบปริญญาตรี 2 ปริญญา ระหว่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและโลจิสติกส์ และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยที่นี่ถือว่าเป็นที่แรกและหลักสูตรเดียวในเมืองไทย เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถด้านบริหารธุรกิจ โดยใช้เวลาเรียน 4 ปี เท่ากับหลักสูตรปกติ แต่มีการเรียนเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพิ่ม 30 หน่วยกิตจากหลักสูตรปกติ โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมต่างกันเล็กน้อย คือ หลักสูตรปกติ เทอมละ 25,000 บาท และหลักสูตรควบ เทอมละ 34,000 บาท
ข้อดีข้อสำคัญของการเรียนที่นี่คือ มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้มีความสามารถทางภาษาและการสื่อสาร ซึ่งภาษาอังกฤษมีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ (ขนส่ง) ซึ่งทำให้มีข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจส่งออกกับต่างประเทศในฐานะผู้ประกอบการ รวมถึงการทำงานในองค์กรที่ทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ
โดยจุดเด่นอีกข้อของทั้งสองสาขาก็คือ คือเน้นการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริง (On-site training) ซึ่งมหาวิทยาลัยเรามีแหล่งฝึกปฏิบัติจริงทั้งในมหาวิทยาลัยเอง รวมถึงแหล่งฝึกนอกสถานที่ที่มีชื่อเสียงด้วย เช่น โครงการหลวง ไร่ PB Valley สิงห์ปาร์ค เป็นต้น ซึ่งจะทำให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่แน่นอน
นอกจากนี้ หลักสูตรของที่นี่ยังเปิดรับทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ เพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะการสื่อสาร รวมไปถึงการสร้าง connection ในการติดต่อกับต่างชาติซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งประกอบธุรกิจค่ะ
รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ ในโครงการ ASEAN International Mobility for students (AIMS) จำนวนปีละ 10 ทุน (ทุนละ 100,000 บาท) และรวมถึงยังมีทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น Scholarship for Short-term Study in Japan (JASSO) อีกด้วยค่ะ
จากที่แอดมินได้รีวิวทั้ง 2 หลักสูตรไปแล้ว น้อง ๆ คนไหนที่สนใจสมัครเข้าเรียนที่นี่ ตอนนี้มหาวิทยาลัยกำลังจะเปิดรับ TCAS รอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 7-15 พฤษภาคมนี้ค่ะ โดยสามารถติดต่อสอบถามที่พี่แอดมินเพจ Admission@MFU หรือ จะติดต่อไปที่เพจของสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตรก็ได้เช่นกันค่ะที่ Agro-Industry MFU